วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

บทความ : การศึกษาไทยในเวทีอาเซียน



ในการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ทิศทางการศึกษาไทย กับความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.มัทนา สานติวัตร อธิการบดี ม.กรุงเทพ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และ รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอภิปราย
ดร.ชินภัทร กล่าวว่า การเตรียมพร้อมของคนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน การพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ โดยเฉพาะในชนบทเน้นสมรรถภาพการทำงานตามบริบทของพื้นที่ ส่วนนักเรียนอาชีวะต้องส่งเสริมอาชีพในสาขาต่าง ๆ พัฒนาเด็กความสามารถพิเศษ เพื่อเป็นนักเจรจา นักการทูต ส่วนภาคอุตสาหกรรมนายถาวรมองว่า การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้เกิดการโยกย้ายแรงงานเสรี สามารถหาคนชาติอื่นมาทำงานแทนได้ ไทยต้องพัฒนาศักยภาพแรงงานประเทศ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานที่มีทักษะในการผลิต ด้านคุณหญิงกษมาแนะให้นำจุดแข็งของไทยมาแข่งขัน คือ ความคิดสร้างสรรค์ กล้าลองผิดลองถูก ฝึกความอดทนต่อความล้มเหลว ความเสมอภาคทางการศึกษา และพัฒนาลูกหลานแรงงานต่างด้าวให้เป็นทูตระดับท้องถิ่น จุดแข็งคือ เครื่อข่ายวิชาชีพ โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบ เชื่อมสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงส่งเสริมให้คนเรียนต่อในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ ดร.มัทนาให้ความเห็นว่า ควรใช้หนังสือหรือสื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษ กำหนดการถ่ายโอนหน่วยกิตเป็นนโยบาย กระตุ้นให้เด็กไปเรียนต่อต่างประเทศ
นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนยังต้องสนับสนุนปัจจัยด้านการพัฒนาสถานที่สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การบริหารจัดการ นักวิจัย และครู เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษา พัฒนาผู้นำในอาเซียน ปรับการศึกษาให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ขณะที่ ดร.วัลลภมองว่าต้องปฏิรูปการประเมินใหม่ ด้วยการประเมินผลสัมฤทธิ์กับนักเรียนมากกว่าประเมินจากการทำงานของครู ซึ่งอำนาจการศึกษาต้องคืนกลับสู่ท้องถิ่น การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนจะต้องมีความเป็นเพื่อนกันก่อน
สำหรับมุมมองของ ดร.สมพงษ์ ต้องสร้างความรู้สึกร่วมความเป็นประชาชนอาเซียนเข้าไปด้วย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องวางบทบาทให้เล็กลง และเพิ่มบทบาทของส่วนรวมให้มากขึ้น ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต้องมีการทำอาเซียนศึกษา หรือต่อยอดงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง จึงจะทำให้การศึกษาของไทยพร้อมรับมือกับประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้เปรียบเรื่องภูมิศาสตร์ไม่มีปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติกระทบกับการศึกษา อีกทั้งมีความเข้มแข็งทางวิชาการ และความพร้อมด้านต่างๆ พอสมควรข้อได้เปรียบนี้ทำให้คนไทยเกียจคร้าน ดังนั้น ฝ่ายบริหารต้องชัดเจนเรื่องนโยบายการศึกษาให้มากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการตามแผนการศึกษารับเสรีอาเซียนที่ได้วางไว้ให้เป็นรูปธรรม

เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์ 



ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : IOC   Rewriter : สุริยน ตันตราจิณ / สนข.
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น